ตู้เย็นแบบไหนเหมาะกับสไตส์เรา
ตู้เย็นมีกี่ประเภท ก่อนจะไปเลือกซื้อตู้เย็น เรามาทำความรู้จักประเภทของตู้เย็นกันก่อนดีกว่าว่ามีกี่แบบกันบ้าง
1.ตู้เย็นเล็ก หรือ Mini Bar ตู้เย็นขนาดเล็กกะทัดรัด 1 ประตู บางรุ่นมีช่องแช่แข็งแยก (แล้วแต่รุ่น) สามารถแช่เครื่องดื่มหรืออาหารขนาดเล็ก จำนวนไม่มาก เหมาะกับอพาร์ตเมนต์หรือห้องที่มีพื้นที่จำกัด
2.ตู้เย็น 1 ประตู ตู้เย็นขนาดกลาง เหมาะกับการใช้งานในครัวเรือน ภายในแบ่งสัดส่วนเป็นช่องแช่เย็นและช่องแช่แข็ง ด้านข้างประตูเป็นชั้นวางเครื่องดื่ม มีลิ้นชักด้านล่างเป็นช่องสำหรับเก็บผัก-ผลไม้
3.ตู้เย็น 2 ประตู ตู้เย็นขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ เป็นที่นิยมใช้ในบ้านเรือน มีการแยกส่วนช่องแช่เย็นและช่องแช่แข็งออกจากกันอย่างชัดเจน สะดวกต่อการใช้งาน มีทั้งแบบช่องแช่แข็งอยู่ข้างบนและอยู่ข้างล่างให้เลือกใช้ตามชอบ
4.ตู้เย็น Side-by-Side ตู้เย็นขนาดใหญ่ เหมาะกับการใช้งานในครอบครัวขนาดใหญ่ มี 2 ประตูที่เปิดได้ทั้งซ้ายและขวา เพิ่มความสะดวกในการหยิบของ และสามารถเก็บอาหารได้จำนวนมาก
5.ตู้เย็นหลายประตู ตู้เย็นขนาดใหญ่มาก ด้านบนจะเป็นประตูเปิดได้ทั้งซ้ายและขวา ส่วนด้านล่างจะเป็นลิ้นชักสำหรับแช่ผัก-ผลไม้ และช่องแช่แข็ง ทำให้เก็บอาหารได้เป็นระเบียบมากขึ้น และสะดวกในการหยิบใช้
วิธีเลือกตู้เย็นแบบไหน ที่ใช่สำหรับเรา การจะเลือกซื้อตู้เย็นคู่บ้านสักเครื่อง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง มาดูกัน
1.เลือกตู้เย็นประหยัดไฟ เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ เพราะตู้เย็นเป็นอุปกรณ์ที่ต้องเสียบปลั๊กทำงานอยู่ตลอดเวลา จึงควรเลือกที่กินไฟน้อยและช่วยประหยัดไฟ ซึ่งดูได้จากฉลากแสดงเบอร์กำกับไว้ เลขที่ประหยัดไฟมากที่สุดคือ 5 และจะมีรายละเอียดการใช้ไฟ แสดงค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อปีด้วย ยกตัวอย่างเช่น
ตู้เย็นฉลากเบอร์ 3 : กินไฟ 332 หน่วยต่อปี ต้องเสียค่าไฟประมาณ 840 บาท
ตู้เย็นฉลากเบอร์ 4 : กินไฟ 262 หน่วยต่อปี ต้องเสียค่าไฟประมาณ 644 บาท
ตู้เย็นฉลากเบอร์ 5 : กินไฟ 220 หน่วยต่อปี ต้องเสียค่าไฟประมาณ 573 บาท
2.ขนาดและความจุของตู้เย็น ตู้เย็นมีหน่วยวัดขนาดเป็น คิว หรือลูกบาศก์ฟุต (ขนาดกว้าง x ยาว x สูง = 1 ฟุต) หรือถ้าจะพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็เหมือนขนาดถุงสำหรับซื้อของตามซูเปอร์มาร์เกต ควรเลือกให้มีขนาดที่พอเหมาะกับสิ่งที่จะใส่เข้าไป และให้พอดีกับจำนวนคนในครอบครัว เช่น
1 คน เหมาะกับตู้เย็น Mini Bar หรือตู้เย็นขนาด 1.6 คิว หรือไม่เกิน 2.5 คิว
ครอบครัวขนาดเล็ก สมาชิก 2-4 คน ควรเลือกใช้ตู้เย็นขนาด 6-10 คิว
ครอบครัวขนาดกลางหรือใหญ่ ควรเลือกใช้ตู้เย็นขนาด 15 คิวขึ้นไป หรือตู้เย็นหลายประตู
3.ฟังก์ชันการใช้งาน ตู้เย็นแต่ละแบรนด์ก็มีฟังก์ชันการทำงานที่คล้าย ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางขวดน้ำข้างประตู ลิ้นชักแช่ผัก-ผลไม้ที่แยกเป็นสัดส่วน ช่องแช่เย็นที่ปรับลดอุณหภูมิได้ ชั้นวางที่ถอดได้เพื่อสะดวกในการปรับแยกและทำความสะอาด ระบบละลายน้ำแข็ง และถาดน้ำแข็งแบบบิดได้ เป็นต้น เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรใส่ใจเพื่อให้ตรงกับความต้องการของเราที่สุด
4.นวัตกรรมของตู้เย็น นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เสริมเข้าไปในการทำงานของตู้เย็นสมัยนี้ก็เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้มากขึ้น เช่น
ระบบทำความเย็นแบบคู่ (Dual Cooling System) แยกกระจายลมเย็นของช่องแช่แข็งกับช่องปกติออกจากกัน ทำให้ได้ความเย็นที่เหมาะกับการใช้งาน
ระบบกรองอากาศ (Air Filtration) แบบคาร์บอน ช่วยลดกลิ่นอับ
ระบบการจัดการพลังงานภายในอัตโนมัติ (Inverter) ช่วยทำความเย็นได้อย่างเหมาะสม ละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ ทำให้ตู้เย็นไม่ทำงานหนักจนเกินไป และช่วยประหยัดไฟได้ด้วย
ระบบควบคุมความชุ่มชื้น (Moist Fresh Zone) ช่วยยืดอายุให้ผัก-ผลไม้คงความสดไว้ได้นานขึ้น
ระบบฟอกอากาศ (Anti-Bacterial Protector) ช่วยลดเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงช่วยกำจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ด้วย
5.ดีไซน์ ด้วยรูปทรงแบบกล่องที่คล้ายกัน แต่อาจต่างกันที่สีสันและลวดลาย การเลือกตู้เย็นที่มีดีไซน์เหมาะกับพื้นที่หรือห้องที่เราจะวางก็จะช่วยเสริมลุคของห้องให้ดูดีตามไปด้วย เช่น ถ้าจัดห้องเป็นสีขาวสไตล์มินิมอล ควรเลือกตู้เย็นขนาดเล็กที่มีสีอ่อน หรือถ้าจะวางตู้เย็นในห้องครัวโทนสีเข้มและมีพื้นที่ ก็อาจจะเลือกเป็นตู้ขนาดกลาง-ใหญ่ สีดำหรือสีเข้ม เป็นต้น
6.ความแข็งแรงทนทานของวัสดุ วัสดุภายในตู้เย็นควรมีคุณภาพ แข็งแรง ทนทาน รองรับน้ำหนักได้ดี และทำความสะอาดได้ง่าย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเสียงดังรบกวนขณะที่ตู้เย็นทำงานด้วย
7.ราคาตู้เย็น ปัจจุบันตู้เย็นในท้องตลาด มีขนาด ความจุ และนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย ส่งผลให้ราคาแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละแบบก็มีราคาโดยประมาณ ดังนี้
ตู้เย็นเล็ก Mini Bar ราคาประมาณ 4,000-6,000 บาท
ตู้เย็น 1 ประตู ราคาประมาณ 5,000-7,000 บาทขึ้นไป
ตู้เย็น 2 ประตู ราคาประมาณ 9,000-20,000 บาทขึ้นไป
ตู้เย็น Side-by-Side ราคาประมาณ 40,000-100,000 บาทขึ้นไป
ตู้เย็นหลายประตู ราคาประมาณ 50,000-160,000 บาทขึ้นไป
8.เลือกที่มีบริการหลังการขาย ศูนย์ซ่อมบำรุง เรื่องประกันหลังการขายและศูนย์ซ่อมบำรุง ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรใส่ใจด้วย เพราะบางรุ่นมีระยะเวลาประกันคอมเพรสเซอร์และอะไหล่ที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ 3-5 ปี บางรุ่นก็อาจจะประกันถึง 10 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ควรเลือกแบรนด์ที่มีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ใกล้บ้านเพื่อสะดวกในการส่งซ่อม
เครดิตข้อมูลจาก home.kapook.com